ศิลปะสำหรับเด็ก: เป็นแค่งานอดิเรกธรรมดาหรือมากกว่านั้น?

ศิลปะสำหรับเด็ก: เป็นแค่งานอดิเรกธรรมดาหรือมากกว่านั้น?

เมื่อพูดถึงประโยชน์ของการเรียนศิลปะสำหรับเด็ก ส่วนใหญ่มักนึกถึงการผ่อนคลายความเครียด สร้างสุนทรียภาพ และฝึกสมาธิ แต่แท้จริงแล้ว ศิลปะให้ประโยชน์ในแง่มุมที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น
หนึ่งในประโยชน์ที่ซ่อนอยู่คือ การสร้างทักษะการสื่อสารให้แก่เด็ก เมื่อเด็กๆ นำเสนอที่มาและความรู้สึกจากผลงานตนเอง รวมถึงการวิเคราะห์งานทั้งของตนเองและผู้อื่น ก็จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและสร้างทักษะทางสังคมขึ้นโดยปริยาย
นอกจากนี้ ครูผู้สอนยังสามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กได้ผ่านการสนทนาถึงแนวคิดของผลงานเริ่มต้นจากการถามว่าเด็กอยากนำเสนออะไร เพราะเหตุใด การตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กคิดวางแผนว่าจะสร้างงานอย่างไร ต้องหาวัสดุอุปกรณ์มาจากไหน ซึ่งนำไปสู่การค้นคว้าข้อมูล รวบรวมแนวคิดและวางแผนก่อนลงมือปฏิบัติ
กระบวนการเหล่านี้เปรียบเสมือนการปูพื้นฐานทักษะการคิดวิเคราะห์ วางแผน และการลงมือทำตามหลักการ PDCA (Plan – Do – Check – Act) สำหรับเด็กโดยไม่รู้ตัว เสมือนการฝึกซ้อมการทำงานแบบผู้ใหญ่ตั้งแต่ยังเล็ก
แต่นั่นยังไม่ใช่ที่สุดของประโยชน์ของศิลปะ หากเด็กสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน การผนวกงานศิลปะเข้ากับกิจวัตรประจำวันก็สามารถทำได้ เช่น การกำหนดระยะเวลาและเป้าหมาย หรือสอดแทรกหลักการตลาดเพื่อการสื่อสาร ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่แนวทางการทำงานทางพาณิชยศิลป์
ที่สำคัญประการสุดท้าย การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้โจทย์ที่กำหนดขึ้น จะฝึกให้เด็กๆ เกิดทักษะการประเมินตนเอง (Self – Assessment) ว่าตนเองสามารถแสดงศักยภาพได้ดีเพียงใด และเรียนรู้การวางตำแหน่งของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนับเป็นทักษะชีวิตสำคัญที่ศิลปะมอบให้
ดังนั้น สำหรับครูและผู้ปกครอง การสังเกตและปูพื้นฐานให้เด็กได้เรียนรู้จากศิลปะอย่างรอบด้าน จะก่อให้เกิดประโยชน์อันลึกซึ้งแก่พัฒนาการมากกว่าที่คิด