ความกลัวกับความกล้า Courage and Fear

นี่เป็นการเขียนบทความครั้งแรกของผม  ผมอยากจะขออนุญาตกล่าวถึงสิ่งที่ผมคิดว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการใช้ชีวิต ที่ส่งผลต่อตัวเรา สังคม คนรอบข้าง และการดำเนินชีวิติในทุกๆ วัน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณ ที่ส่งผลต่อสิ่งรอบๆตัวเรา จนกลายเป็นสังคมที่เราใช้ชีวิตร่วมกันในทุกๆวัน
ผมว่าทุกคน คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ความกลัว คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง”
ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงอดีตกาลอันไกลสุดไกลเท่าที่เราจะนึกได้ มนุษย์หลักๆพัฒนาตัวเองและสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาจากความกลัวทั้งสิ้น เรากลัวธรรมชาติ เรากลัวเรื่องการดำรงชีพ เราจึงได้สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาเพื่อป้องกันความกลัวที่จะเกิดขึ้น พอป้องกันได้ระดับหนึ่ง เราก็จะสร้างสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้กับเรา จนสุดท้าย ถึงจะเป็นการเติมแต่งให้เกิดความสุนทรีย์และสวยงามต่อไป
ปัจจุบันผมเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งที่กลัวกันอยู่ และสิ่งที่เรากลัวนั้นแหละที่เป็นเสมือนกำแพง ที่กั้นไม่ให้เราได้มีโอกาสได้พบสิ่งใหม่ๆที่รออยู่ข้างหน้า เว้นแต่เราจะมีความกล้าที่จะทลายกำแพงนั้น
และนั่นเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา เรามีกำแพงแห่งความกลัวมากมายและไม่กล้าพอที่จะคิดหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อทลายกำแพงนั้น อาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่า สังคมเราหล่อหลอมให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าตั้งแต่ในวัยเยาว์
เราไม่กล้าที่จะแสดงออก ไม่กล้าที่จะคิดหรือทำสิ่งต่างๆที่ผิดแปลกไปจากคนอื่นๆ ไม่กล้าที่จะแย้งกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ ไม่กล้าที่จะประพฤติต่างจากคนทั่วไป ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ และนั่นทำให้สังคมเราพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ๆได้ช้า

เด็กๆไม่กล้าแสดงออกเพราะถูกผู้ปกครองเลี้ยงดูมาในรูปแบบนั้น เช่น “อยู่เฉยๆ”, “อย่าซนนะ”, “นั่งเฉยๆ เห็นคนอื่นมั้ย ไม่มีใครเค้าทำเหมือนลูกเลย”, ห้ามทำนู่น ห้ามทำนี่ หรือใช้คำและวิธีการเลี้ยงดูอื่นๆอีกมากมายที่เป็นการปิดกั้นจินตนาการ ความคิด การตัดสินใจ ของเด็กๆที่เปรียบเสมือนผ้าขาวที่รอสีสันมาเติม และสมองที่ยังสามารถเปิดกว้างรับสิ่งๆใหม่ได้อีกมากมาย ต้องมาถูกหยุด ไม่ให้แสดงออก ไม่กล้าแม้แต่จะคิด เพราะกลัวว่าจะถูกดุหรือว่ากล่าวด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ซึ่งสุดท้าย ก็จะส่งผลมาจนถึงวัยเรียน วัยรุ่น วันผู้ใหญ่ในที่ทำงานต่อไป

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เวลาประชุม หรือ เวลาที่จะต้องมีการแสดงความคิดเห็นในคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน หรือ ในที่ประชุมขององค์ใดๆ ธรรมชาติคนไทย จะไม่กล้าแสดงความคิดเห็น พอวิทยากรหรือผู้ดำเนินในที่ประชุมถาม เราจะไม่ค่อยเห็นใครยกมือ หรือ แสดงความคิดเห็นใดๆ “ใครมีคำถามอะไรหรือเปล่าครับ”, “ใครมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ” ซึ่งส่วนใหญ่ที่เราเจอกันในประสบการณ์จริงนั้น จะมีแต่ความเงียบงันเป็นคำตอบ

ต่างจากสังคมต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว พวกเค้าจะมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างปกติ เพราะอะไรหละ?
บ่อยครั้งที่เราเห็นเด็กฝรั่งวิ่งเล่นหรือถูกปล่อยให้เป็นอิสระในสถานที่ต่างๆที่เราได้มีโอกาสไปพบเจอ พวกเขาจะถูกปล่อยให้เริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง ตั้งแต่เล็กๆ ที่เขาสามารถจะทำด้วยตัวเองได้ พวกเขาจะทำอะไรเองตั้งแต่วัยที่เพิ่งจะเริ่มเดินเองได้ด้วยซ้ำ ปราศจากข้อห้ามทั้งหลายทั้งปวง ปล่อยให้เด็กลองผิดลองถูก โดยที่ผู้ปกครองจะคอยดูอยู่ห่างๆ ตั้งขอบเขตการกระทำของพวกเค้า แต่ต้องเป็นขอบเขตที่กว้างพอที่พวกเค้าจะสามารถมีอิสระในความคิดและการกระทำได้เต็มศักยภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่พึงจะมีได้
ถ้าเราลองเปรีบบเทียบดูว่า สังคมหรือกลุ่มคนที่มีคนคิดคนทำเพียงไม่กี่คน แล้วสั่งให้คนกลุ่มใหญ่ทำ คงเทียบไม่ได้กับสังคมหรือกลุ่มคนที่มีคนช่วยกันคิดช่วยกันทำหลายๆคน แล้วร่วมเดินตามทางในสิ่งที่พวกเค้าเห็นพ้องกันจะดีกว่ามั้ย

สิ่งสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ ถ้าเรามัวแต่กลัวแล้วไม่กล้าที่จะแสดงความคิด ไม่กล้าที่จะกระทำในสิ่งต่างๆ เราก็จะไม่มีวันได้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังกำแพงแห่งความกลัวนั้น เราจะไม่มีวันเปลี่ยนชีวิตตัวเอง จะไม่มีเส้นทางใหม่ๆให้เราได้ไป สุดท้าย ก็จะนำไปสู่สังคมที่ถูกวางเส้นทางโดยคนไม่กี่คนเท่านั้นเอง

ตราบใดที่เราไม่กล้าทลายกำแพงแห่งความกลัว เราก็จะไม่มีวันได้พบสิ่งใหม่ๆในชีวิต

boys-838221_1920